26 พ.ค. 2556

One by One..Three Hundreds No.21..คดีอาถรรพ์..(อาถรรพ์เพราะคนเขียนนี่แหละ)







เล่มนี้

ข้าพเจ้าตั้งใจซื้อมา

ด้วยเพราะคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นหนังสือ

เป็นตัวอักษร

เป็นข้อเท็จจริง

หาใช่เป็นเหมือนเรื่องเล่า

เพราะเรื่องเล่าอันเกี่ยวด้วยเรื่องราวเหล่านี้

เป็นต้นว่า

คดีหีบเหล็กนายบุญเพ็ง

คดีซีอุย

คดีนวลฉวี

ฯลฯ

ข้าพเจ้าได้ยิน ได้ฟังมามากแล้ว

แต่ไม่อาจปักใจเชื่อ

หรือไม่อาจฟันธงได้ว่า

ข้อเท็จจริงที่ได้ฟังเขาว่ากันมา หรือใครต่อใครพูดกันมาเป็นทอดๆ นั้น

จะเชื่อถือได้แค่ไหน

จะมีความจริง ความแต่ง ความเท็จ ความโอเวอร์อยู่ในระดับใด




หากแต่ ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่านี่คือความผิดพลาด

อันเกิดจากความประมาทของข้าพเจ้าเอง

ข้าพเจ้ามิได้ดูให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ

เพียงแค่เปิดผ่านๆ ดูสารบัญ

มันไม่เพียงพอจริงๆ สำหรับการจะเลือกซื้อหนังสือดีๆ สักเล่มในสมัยนี้

ยุคที่อะไรๆ ก็มักจะ "ง่ายๆ" เข้าไว้

ผลผลิตจากความมักง่ายๆ ก็กลายเป็นสิ่งง่อยๆ

ไร้ค่า และคู่ควรแค่การดูหมิ่นและหมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง





เนื้อหาในเล่มนี้

หาได้มีสิ่งใดแปลกหรือแตกต่างไปจากเรื่องเล่า 

อาจจะเลวร้ายกว่าการเล่าของผู้คนทั่วๆไป เสียด้วยซ้ำ

เพราะเป็นการเอาเรื่องที่คนนั้นเล่าที คนนี้เล่าทีมาแปะ มาติด มาต่อ

คัดลอกเขามา

แล้วจัดหน้า

เว้นบรรทัดเยอะๆ

ใส่อารมณ์ ใส่ไฟ ใส่สี ใส่ไข่ (เอาเป็นว่า มีอะไร มั่วมากแค่ไหน ก็ใส่มาหมด)

ราวกับนิยายน้ำเน่าก็ไม่ปาน

ทั้งที่คดีเหล่านี้

เป็นเรื่องจริง

เป็นเรื่องที่จะถูกส่งต่อไปยังอนุชนคนรุ่นหลัง

เพื่อเป็นอุทธาหรณ์

เพื่อเป็นข้อเตือนใจ

จึงสมควรที่จะเป็นข้อเท็จจริง

เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้

เป็นสิ่งที่ไม่เป็นแบบอย่างของการบ่มเพาะการด่วนตัดสินและนั่งเทียนคิดเองเออเองให้เกิดแก่ผู้อ่าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

เมื่อสิ่งนี้คือหนังสือ

เป็นวัตถุอันจับต้องได้

และแลดูจะมีน้ำหนักยิ่งกว่าคำพูดที่เล่าๆ กันมา

ก็ยิ่งสมควรทำให้มีความแตกต่าง

มีการค้นคว้า หรือการอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้





แต่เล่มนี้

ราวกับตัดเอาข่าวจากหนังสือพิมพ์ 

(ซึ่งก็เชื่อถือไม่ค่อยได้อยู่แล้ว)

มาแปะ มาปนกัน

บางเรื่อง 

ตอนต้นเล่าอีกอย่าง

คั่นรายการด้วยบทเพลงอันเกี่ยวกับเรื่องนั้นที่ชาวบ้านแต่งขึ้นพอเป็นกระษัย (ไปลอกเอาของเขามาอีก)

แล้วตอนท้ายเล่าใหม่ด้วยเนื้อความที่ขัดแย้งกันเองกับตอนต้น

(ตกลงว่ามันยังไงกันฟระ)





หรือบางเรื่อง

ก็ใช้สรรพนามแทนผู้เป็นอาชญากรในเรื่องนั้นว่า "มัน"

ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

ไม่ว่าคนๆ นั้นจะทำผิดจริงหรือเรื่องราวความเป็นมามันเป็นเช่นไร

ไม่ว่าสื่อใดๆ ก็ตาม

เขาก็จะไม่ใช่สรรพนามเช่นนี้แทนตัวบุคคลที่กำลังเอ่ยถึงกันเด็ดขาด

นอกจากนั้น

ช่วงแรก ไปเรียกเขาว่า "มัน" แล้ว

ช่วงหลัง

ยังมีหน้าบอกว่าเขาอาจเป็นคนน่าสงสาร

มีปมในจิตใจ

ในอดีตเคยถูกรังแก

บางหน้าก็ใช้สรรพนามสลับกันมั่ว

เดี๋ยว "เขา" เดี๋ยว "มัน"

หึๆ





อ่านหนังสือเล่มนี้

เหมือนดูละครไทย

ที่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการระลึกไว้เสมอว่า

อย่าไปเอาอะไรกับมันมาก..ก็แค่ละคร

มัวแต่นั่งจับผิด ก็หมดสนุกกันพอดี

อ่านหนังสือนี้ ก็อ่านไป ดูความมักง่ายของคนไป ก็เท่านั้นพอ

จับผิดนั่นหรือ อย่างเลย จะเหนื่อยเสียเปล่า

ถ้าจับสิ่งถูก จะง่ายกว่าไหม เพราะน่าจะมีน้อย




แต่แท้แล้ว

เรื่องราวเหล่านี้

ไม่ใช่ละคร

คนทุกคนที่คุณผู้เขียน "บุญชัย ใจเย็น" กำลังเอ่ยถึง

พาดพิงถึง

เอาเรื่องของเขามาหากิน หาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

เขามีตัวตนจริง

เป็นมนุษย์จริงๆ

และมิใช่ตัวละครที่คุณจะสามารถจับแพะมาชนแกะ 

เอาสีนั้นมาป้าย เอาสีนี้มาทาได้ตามใจชอบ

โดยไม่ได้มีหลักฐานอ้างอิง

ไม่ได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงอันสังคมควรรับรู้ด้วยใจจริงๆ

ถ้าจรรยาบรรณในการผลิตสื่อแค่นี้ คุณยังไม่มี

คุณและสำนักพิมพ์ "ปราชญ์" ก็สมควรรับเอาคำด่าที่คุณๆ ก่นด่าคนเหล่านั้นไว้เองเสียเถิด





ตัวอย่างขำๆ  

เขียนถึง ซีอุย กับเหยื่อรายที่ 5

"ในที่สุด มันตัดสินใจ

อุ้มเด็กเคราะห์ร้ายไว้ในอ้อมแขน

ใช้มืออุดปาก อุดจมูก

ใช้ความมืดเป็นเกราะกำบังตัว

มันวิ่ง วิ่ง เหนื่อยแทบขาดใจ

จนถึงทางรถไฟสถานีรถไฟจิตรลดา"

เอิ่ม คุณผู้เขียนไปเห็นภาพเช่นนี้ได้อย่างไรคะ

หรือคุณคือซีอุยกลับชาติมาเกิด

แล้วบรรยายลักษณาการในขณะนั้นของตัวเอง ฮึ??



(ตอนหลังมา ยังอุตส่าห์ใจดี นึกถึงหัวอกของซีอุย 

เอาประวัติเขามาลง บอกว่าเขาถูกกลั่นแกล้งรังแกอย่างนั้นอย่างนี้

เพื่อจะอธิบายว่าเหตุใดเขาต้องก่อคดีเช่นนั้น

เพื่อจะบอกว่าทุกคนมันมีปม เขาก็มีความน่าสงสาร

หึๆ แล้วที่ไปเขียนด่าเขาราวกับเขาเป็นผีห่าซาตานแต่แรก 

แถมใช้สรรพนามแทนเขาว่า "มัน" นี่คืออะไร)




ตัวอย่างขำๆ 2

เขียนถึงคดีศยามล เสียชีวิตโดยลูกสาว คือ ด..อิงอิงนั่งร้องไห้เช็ดเลือดให้แม่

ซึ่งพระภิกษุที่ออกบิณฑบาตได้เป็นผู้พบศพ

ผู้เขียนบรรยายไว้เป็นการเกริ่นเรื่องว่า



"เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อเช้าตรู่ที่แสนสดใส

...

ในขณะที่พระภิกษุหลายรูป ก็ออกมาเพื่อบิณฑบาต

ไปตามท้องถนนในหมู่บ้าน


วันนี้ก็ธรรมดา พระภิกษุคิดอย่างนั้น.."


เอิ่ม...รู้แม้กระทั่งความคิดพระภิกษุกันเลยทีเดียว -*-







ความจริง ไม่เพียงแค่ซีอุยกับพระภิกษุหรอก

ผู้เขียนรู้ดีหมดนั่นแหละ

ใครคิดอะไร

ทำอะไร

เหตุการณ์เป็นเช่นไร

เขียนราวกับตัวเองเป็นบุคคลเหล่านั้น

หรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นก็มิปาน

ข้าพเจ้าล่ะเชื่อเขาเลย




นี่คืออุทธาหรณ์ครั้งสำคัญของการเลือกหนังสือจริงๆ

อย่าประมาทไปเชียวนะ..แพรวา






ขอความดีคุ้มครองผู้รักษาความดี

แพรวา บุตรี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น