31 ส.ค. 2556

วิธีอยู่กับคนใจร้าย (ที่รัก) ให้ได้อย่างมีความสุข




เราอาจรักใครมาก และหลายครั้งที่รู้สึกว่า

ความรักที่เราให้เขา กับรักที่เขาให้เรา...มันไม่เท่ากัน

แน่นอน เมื่อใดที่รู้สึกหรือนึกเช่นนั้น

ย่อมหมายความว่า เรากำลังเจ็บปวด

กำลังน้อยใจ เสียใจ หรือรู้สึกอะไรสักอย่างเทือกนี้



เราสู้อุตส่าห์ทำนู่นทำนี่ให้เขา

แล้วเขาล่ะ?

หลายครั้งที่คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นมา



เราอาจกำลังทนหิวเพื่อกินข้าวกับเขา

แต่ก็ต้องพบว่า เขาอิ่มมาแล้ว

เราอาจซื้อก๋วยเตี๋ยวไว้รอเขา

แล้วก็ต้องนอนท้องร้องฟังเสียงเขากัดกินข้าวโพดอย่างเอร็ดอร่อย

โดยไม่แม้จะเอ่ยปากถามว่าเราหิวไหม หรือชวนเรากินด้วยสักคำ




เหล่านี้

มันเล็กนัก

หลายครั้งที่เราต้องรู้สึกอย่างว่า

เพราะเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจยิ่งกว่านี้

หลายร้อยหลายพันเท่า

แต่ก็เอาเถอะ

จะหนักหนาแค่ไหน

มันก็เป็นความเจ็บปวดที่มาจากสาเหตุอย่างเดียวกันนั่นแล



เขาที่เรารัก อาจใจร้าย

อาจเห็นแก่ตัว

อาจนึกถึงแต่ตัวเอง

เหล่านี้ เป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน

เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ที่ใครๆ จะคำนึงถึงปากท้อง

และความรู้สึกของตัวเอง

ก่อนที่จะเหลียวมองคนรอบข้างเสมอ

ไม่ว่าคนข้างๆ จะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม




ข้าพเจ้าติดนิสัยหลายอย่างมาจากครอบครัว

ตอนเด็กๆ เราสามคน (ตอนนั้นน้องยังไม่เกิด)

พ่อ แม่ ลูก จะรอกินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน

แม่ชอบอยู่ทำโอที

และจะกลับถึงบ้านสองทุ่มครึ่ง

ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้ากลับจากโรงเรียน

ก็จะมีขนม มีอาหารรองท้อง

พ่อจะเตรียมไว้ให้บ้าง

หรือไม่เตรียม ก็หากินเองบ้าง

พ่ออาจอยู่บ้าน หรือไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน

แต่เราก็จะกินข้าวด้วยกัน

ตอนสองทุ่มกว่าๆ

เสมอๆ



เวลาที่เรากินข้าวด้วยกัน

หากเห็นว่ากับข้าวกำลังจะหมด

ก็จะพยายามวางมือ

วางช้อนวางส้อม

ข้าพเจ้าเห็นภาพพ่อแม่ทำท่าอิ่มก่อนเสมอ

อิ่มหรือไม่อิ่มไม่รู้

รู้แต่ว่า จะให้ลูกอิ่ม



ช่วง ม.ต้น

วันเสาร์อาทิตย์

ข้าพเจ้าอยู่บ้านกับพ่อ

แม่ไปทำงานตามเคย

เราสองคนจะมีเมนูประจำ

คือ ผัดหมี่ร้านโปรด (จำชื่อป้าคนขายไม่ได้แล้ว)

จะสั่งพิเศษ

ซึ่งได้มากล่องแทบปริ

กินกันสองคน

กินไปกินมา

พ่อจะต้องวางช้อนก่อนข้าพเจ้าเสมอ

และทำท่าอิ่มแล้ว

ให้ข้าพเจ้ากินต่อให้หมด ให้อิ่ม



ลักษณาการเช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นธรรมเนียมก็ได้

หรือจะเรียกว่าเมตตาก็คงไม่ผิด

ข้าพเจ้าก็ติดนิสัยนี้จากพ่อจากแม่

และมาใช้กับเกือบทุกคน

ข้าพเจ้าไม่แย่งใครกิน

และมักจะเป็นผู้วางช้อนวางส้อมก่อน

เมื่ออยู่ในสถานการณ์เช่นนี้

(ไม่นับรวมการกินแบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง หรือกินกันไม่มีลิมิต)



ครั้งหนึ่ง

ข้าพเจ้าไปกินข้าวกับอดีตคนรักที่ร้านอาหารแถวสะพานพุทธ

เราสั่งกับข้าวสองอย่าง

หนึ่งในนั้นมีต้มยำหม้อไฟ

กินๆ ไป (ตอนนั้นเริ่มกินเยอะแล้ว)

ข้าพเจ้าก็กวาดปลาหมึก กวาดเนื้อต่างๆ ในหม้อไฟ

ไปทางฝั่งเขา

แล้ววางช้อนส้อมตัวเองลง

เขาถามข้าพเจ้าว่า

อิ่มแล้วเหรอ (คงงงที่เห็นข้าพเจ้าอิ่มเร็ว หึๆ)




ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าตอบอะไรเขาไปหรือเปล่า

รู้แต่ว่า

เขายิ้ม เงียบไปสักครู่

แล้วก็พึมพำออกมาว่า

ก็เป็นซะอย่างนี้ ใครไม่รักก็บ้าแล้ว”

ข้าพเจ้าก็งง รู้ว่าเขายังรักข้าพเจ้าอยู่ (ในขณะนั้น)

แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่อถึงการเป็นเช่นไรในตัวข้าพเจ้า

ก็ถามเขา

เขาตอบว่า

ก็คิดถึงแต่คนอื่น”



ข้าพเจ้าไม่แน่ใจนักหรอก

ว่าข้าพเจ้าเป็นอย่างที่เขาพูดไหม

บางที ข้าพเจ้าก็คิดถึงตัวเอง

ข้าพเจ้าก็มักจะคิดถึงตัวเองเสมอๆ แหละ

แต่การกระทำอย่างนั้น

มันเป็นนิสัยของข้าพเจ้าเอง

นิสัยที่ถ่ายทอดมาจากบุคคลในครอบครัว



เรารักใคร

ก็ยากที่จะทนเห็นเขาไม่อิ่ม

หรือทนดูเขาหิว

เรารักใคร

ก็ยากที่จะกินอะไรๆ อย่างสำราญ

โดยไม่นึกถึงหน้าคนที่เรารัก

ว่าเขาจะหิวด้วยไหม

เขากินอะไรหรือยัง

เขาจะมีอะไรกินหรือเปล่า




ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อต้องมาเจอสถานการณ์อันน่าพิศวง

การถูกทิ้งให้หิว

โดยไม่ได้รับความสนใจจากคนที่รัก

จึงค่อนข้างยากที่จะรับได้เหมือนกัน

บ่อยครั้งที่เจอเหตุการณ์เช่นนั้น

ข้าพเจ้าก็งงๆ ว่าจะรู้สึกอย่างไรดี




เออ ต่อไปนี้ ฉันก็ไม่คิดถึงเธอล่ะนะ

เธอทำกับฉันยังไง

ฉันก็จะทำอย่างนั้นกับเธอตอบแทน

เธอให้ฉันมาเท่าไหร่

ก็ได้รับกลับไปเท่านั้นก็แล้วกัน



เมื่อเด็กๆ ข้าพเจ้าคิดเช่นนั้น

และประพฤติเช่นนั้น

แต่ก็น่าแปลก

ที่เมื่อตอกกลับเขาอย่างนั้น

มันไม่ได้ทำให้รู้สึกดี

หรือไม่ได้ยกความสัมพันธ์ให้แนบแน่นและกระชับขึ้นเลย

กลับยิ่งแย่

เขาก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันคือการเห็นแก่ตัว

หรือร้ายกาจอย่างไร

อยากกินก็หากินสิ

กินไม่อิ่มก็สั่งเพิ่มสิ

ไม่เห็นต้องใส่ใจอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย

ท้องใครท้องมัน

เขาก็ยังคงเป็นของเขาต่อไปอย่างนั้น

หนำซ้ำ ยังเพิ่มคนร้ายกาจขึ้นอีกหนึ่งคน

คือข้าพเจ้าเอง

สรุปคือ

เรากำลังกลายเป็นคนร้ายกาจ เห็นแก่ตัว ด้วยกันทั้งคู่

น่าประหลาดดีแท้

จะทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร



วันนี้

ข้าพเจ้ามีเวลาทบทวนความคิดเรื่องนี้

และคิดว่า

ในกรณีที่ต้องอยู่กับคนใจร้าย

คนที่เห็นแก่ได้

คนที่นึกถึงแต่ตัวเอง

เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นหลักใหญ่

เรามีทางเลือกอยู่สองทาง



หนึ่งคือ

ไปให้ไกลเสียจากคนๆ นั้น

จะเกิดประโยชน์อะไร กับการพร่ำบ่น ก่นด่า

ว่าเขาไม่ดีอย่างนั้น เลวอย่างนี้

แต่เราก็ยังจมปลักอยู่กับเขา

ทำร้ายจิตใจตัวเองไปทุกวันๆ

เมื่อเขาไม่ดี ก็อย่าไปอยู่ใกล้เขาเสียสิ

ขาดเขา เราก็ไม่ตายหรอก

ความรัก คนรัก อาจหล่อเลี้ยงให้ชีวิตเราชุ่มฉ่ำ

แต่ไม่ได้หมายความว่า

ไม่มีเขา ชีวิตเราจะไปต่อไม่ได้

อกหักอย่างมีสติ

ไม่ตายหรอก



หรืออีกทางหนึ่ง

หากกลั้นใจทำอย่างแรกไม่ได้จริงๆ

ก็ต้องอดทน

และอย่าให้ตัวเอง กลายเป็นคนแบบนั้น

อย่าให้คำที่เราตะโกนด่าเขา (ในใจ)

ย้อนกลับมาเข้าตัวเราเอง



เขาไม่คิดถึงเราใช่ไหม

เราก็คิดถึงเขาให้มากๆ

เขากินไม่สนใจเรา

เราก็ซื้ออาหารไปให้เขากิน

เขาไม่สนใจว่าเราหิวแค่ไหน

เราก็ทำให้เขารู้ว่า

อาการท้องร้องของเขา เป็นสิ่งที่เราสนใจเสมอ

เมตตาเขาให้มากๆ

ใส่ใจเขาให้มากๆ

เอาความดีเข้าข่มความโหดร้าย

เอาน้ำใจเข้าสู้ความเห็นแก่ตัว



วิธีนี้ นอกจากจะบำบัดตัวเองได้แล้ว

(แน่นอน ทุกครั้งที่เราทำอะไรดีๆ ให้คนอื่น

เราย่อมรู้สึกดีและผ่อนคลาย

ใจเราจะสบายกว่าทำเลวร้ายกับเขามากนัก)

ยังไม่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องยิ่งแย่ไปมากขึ้นอีกด้วย

และสักวัน เขาอาจซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปบ้าง

อาจตระหนักนึกอะไรขึ้นมาได้บ้าง

อาจเกิดความละอายแก่ใจ

สักนิดก็ยังดี




แต่กระนั้น

ทุกคนย่อมมีขีดจำกัด

ถ้าทำอย่างนี้แล้ว

เขายังคงเห็นแก่ตัว

ยังคงนึกถึงแต่ตัวเอง

สนใจแต่ตัวเอง

นั่นหมายความว่า

เขารักเราไม่มากพอ

และไม่มีวันที่เขาจะรักเรา เท่าตัวเขาเอง

ถ้ายังต้องเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ก็หยุดมันเสีย




วันที่เราเดินจากมา

จะเป็นวันที่เขาเสียใจที่สุด

แต่เราจะเสียใจน้อยมาก

เพราะถือว่า

ได้ทำเต็มที่แล้ว

ทำดีที่สุดแล้ว

ไม่มีอะไรให้เราต้องเสียใจ

หรือเสียดายผู้ชายห่วยๆ อีกต่อไปแล้ว



ก็ไม่รู้สินะ (ยืมโน้ต อุดมมา)

ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนี้

และบรรดาคนรักเก่าที่เลิกรากันไป

ส่วนใหญ่ก็ตามมาขอคืนดี

ยังรอ

ยังหวังว่าข้าพเจ้าจะกลับไป

เขาอาจนึกอะไรได้เมื่อวันที่สายไป

แต่สำหรับข้าพเจ้า

สายน้ำย่อมไม่ไหลย้อนกลับ


Your love was already proven by the time we had shared...


(ไม่ได้ตั้งใจจะอวดให้หมั่นไส้ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ทำตัวเองให้มีค่า ทำหัวใจของตัวเองให้ดี

วันที่เราเอามันคืนมาจากเขา

เขาจะได้รู้ว่า กำลังเสียสิ่งดีๆ ไป)




ว่าด้วยการเลิกรา

ก็มีประการหนึ่งฉะนี้แล




เขียนไว้เตือนตัวเอง

ยิ้ม  :)

แพรวา


18 ส.ค. 2556

One by One...Three Hundreds No.43 เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ 2 "วันชัย ตัน"





เล่มนี้ ซื้อมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว

แต่ไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่านเสียที

วันนี้ นึกครึ้ม ถึงเวลาแล้วสินะ



อาจเพราะรู้ว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้

ท้ายที่สุดแล้ว

ข้าพเจ้าจะต้องรู้สึกเช่นไร

เช่นนั้นกระมัง จึงทำให้มีข้ออ้างกับตัวเองอยู่เรื่อย

ที่จะไม่ลงสายตา ทิ้งความคิดและจิตใจ

ให้ไหลไปตามตัวหนังสือของเขาผู้นี้



ทุกงานเขียน ทุกเรื่อง ทุกบท

เขาทำได้ตามที่ตั้งใจจริงๆ

"แค่ว่าเมื่อเขามาเสียเวลาอ่านงานเขียนของเรา ก็น่าจะได้อะไรไปบ้าง"



ในฐานะคนอ่านคนหนึ่ง

ข้าพเจ้าก็อยากฝากถึงคนเขียนคนนี้

อยากแสดงความยินดีด้วยอย่างสุดซึ้ง

ที่เขาสามารถบรรลุความตั้งใจได้อย่างเสมอมา

ข้าพเจ้าเชื่อว่า

ไม่มีคนอ่านคนใด...ไม่ได้อะไรเลย จากงานเขียนของเขา

แม้เพียงสักชิ้น



บางที ก็ต้องยอมรับว่า ข้าพเจ้าคิดผิด

ที่อ่านหนังสือเล่มนี้

ในวันอาทิตย์

วันที่ควรจะผ่อนคลาย ปล่อยกายปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามความขี้เกียจ

ให้ได้หลบพ้นความเคร่งเครียดจากสภาพแวดล้อม

ซึ่งต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ก็อย่างว่า

การทำเช่นนั้น 

การปฏิเสธงานเขียนของเขา

ก็คือการปฏิเสธความจริง

การยอมรับและเลือกที่จะปิดหูปิดตา

การยอมทำตัวให้โง่ เพื่อหลอกตัวเองไปวันๆ ว่า

ทุกวันนี้ เรา และคนรอบตัวของเรา

ยังสบายดี ยังอยู่ดีมีสุขดี

ทั้งที่ความจริง โลกมันโหดร้ายเช่นไร มันก็ยังโหดร้ายเช่นนั้น

โหดร้ายอยู่ทุกๆ วันที่มันหมุนไป





"เหตุผลของการมีชีวิตอยู่" เล่มแรก ทำให้ข้าพเจ้าหม่นได้เช่นไร

เล่ม 2  ก็ยังมีอิทธิพลเช่นนั้น



ประเด็นปัญหานักการเมืองขี้ฉ้อ

สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า ต้นไม้ถูกทำลาย

คนกล้า คนเก่งที่สู้จนตัว (ต้อง) ตาย

ไปจนถึงการล่มสลายของมนุษยชาติที่เห็นอยู่เนืองๆ

มันก็ยังคงกัดกร่อนจิตใจเราอยู่นั่นเอง



ความจริงที่ว่า

เมืองไทยไม่น่าอยู่

ผู้คนไม่มีน้ำใจ

และใช้ชีวิตกันอย่างไร้ระเบียบ ไร้กฎเกณฑ์ และเห็นแก่ตัวมากขึ้นในทุกๆ วัน

มันก็ยังเป็นความจริงอยู่นั่นเอง

วันชัย ตัน ไม่หลอกคนอ่าน

เขาเน้นย้ำให้เห็นความย่ำแย่เหล่านั้น

พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข

เสียดาย 

เสียดายที่ดูเหมือนว่า

เรายังตัวเล็กกันเกินไป

ยังเป็นกลุ่มก้อนที่กระจิดริดเกินไป

ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้




ถ้าไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่

ก็ต้องเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่

เหมือนเช่นเล่มนี้

ที่เขาเอ่ยถึงคุณสืบ นาคะเสถียร บ่อยครั้ง

เพื่อเน้นย้ำถึงการกระทำที่ยิ่งใหญ่ของชายผู้นี้

ชายผู้ไม่ยิ่งใหญ่ แต่สามารถทำให้ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เกิดการตระหนักรู้

ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงได้




ข้าพเจ้าอดนึกไม่ได้ว่า

หรือบางที 

หากเราปรารถนาจะให้ผู้คนที่ใช้รถใช้ถนน

มีน้ำใจต่อกัน หรือเคารพกฎจราจรมากกว่านี้

เราอาจต้องเสียสละอะไรบางอย่าง




ไม่ต้องนึกประเด็นให้ยาก

เอาแค่ให้คนขับรถ

มีสำนึกในการชะลอและจอดรถให้คนที่รอข้ามถนนตรงทางม้าลาย

มิใช่ยิ่งเห็นคน ยิ่งตาลาย นึกว่าเป็นพินโบว์ลิ่ง

เหยียบคันเร่งวิ่งเข้าใหญ่

กะทำสไตรค์ให้ตายเรียบ

ไม่รู้ว่าจะรีบไปตาย -่า ที่ไหน

ไม่รู้ว่าซื้อใบขับขี่กันมาหรืออย่างไร

ไม่รู้ว่าจิตใจและสมองมันตกต่ำแค่ไหน

ไม่รู้ว่าจะด่ามันอย่างไรให้สาสมดี 

(นั่น ได้ทีระบายความอัดอั้น หึๆ)




ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นทั้งคนขับรถ และคนเดินถนน

ยังไม่เห็นว่าจะเสียเวลาหรือเสียหายตรงไหน

กับการให้คนข้ามถนน ที่เขารอข้าม

ตรงทางม้าลาย

ตรงจุดที่ถูกต้อง

ได้ข้ามไปก่อน

ผายลมยังไม่จืดจางความคลื่นเหียน ก็ได้ไปต่อแล้ว

ถนนในเมืองหลวง ก็ใช่ว่ารถจะน้อยๆ

ขับกันราวกับถนนในเยอรมนี

ที่เขาสร้างไว้ให้ซุปเปอร์คาร์




ประเด็นนี้ 

วันชัย ตัน ก็เขียนไว้

แต่เป็นการเปรียบเทียบ

ยกเอาการปฏิบัติตนของผู้คนในประเทศที่เจริญแล้ว

ว่าเขาขับขี่รถยนต์กันอย่างไร

กฎจราจรเขาเข้มงวดเท่าใด

และทำอีท่าไหน อุบัติเหตุบนท้องถนนเขาจึงมีไม่มาก

และรถไม่ติดบรรลัยเหมือนเช่นประเทศเรา




บางทีข้าพเจ้าก็นึกอยากเป็นคนดัง สักนิดหนึ่งก็ยังดี

จะได้เดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย

และหากมีรถพุ่งมาโดยไม่ชะลอ

ข้าพเจ้าก็จักได้เอาชีวิตตัวเองให้มันสังเวยไปกับคนสันดานเสียเหล่านั้นซะ

หากคนดังสักคนตายไปด้วยเหตุการณ์เช่นนี้

คาดว่า การตระหนักในกฎจราจรของผู้คน

คงเกิดขึ้นบ้าง แม้เพียงสักเล็กน้อย

ถามว่าทำไมต้องเป็นคนดัง

ก็เพราะถ้าเป็นเพียงคนธรรมดา

เป็นลูกตาสียายสา

ข่าวก็อาจจะเงียบไป

ด้วยอำนาจของอะไรบางอย่าง

โดยเฉพาะ หากข้าพเจ้าซวยมาก

ไปเดินข้ามและตายคาประโปรงรถของลูกคนรวย

หรือทางที่ดี ข้าพเจ้าก็ต้องเลือกตายตอนที่คนรอข้ามกันเยอะๆ

เพื่อจะได้มีประจักษ์พยานในความชั่วร้ายนั้น

เชื่อเลยว่า

คนแถวถนนวิทยุ

ยินดีเป็นพยานให้ข้าพเจ้าอย่างเต็มใจ

เพราะอึดอัดกับความไร้วินัยของผู้ขับขี่รถยนต์กันมาหลายชั่วคน




แต่อย่างว่าแหละ

คนเดินเท้าก็ใช่ย่อย

นึกจะข้ามตรงไหนก็ข้าม

ทางม้าลายมันไกล ขี้เกียจเดินย้อนไปมา

เราก็จะได้เห็นคนยืนตามเกาะกลางถนน

เป็นจุดๆ ห่างกันราวๆ เมตรสองเมตร

ชะโงกหัวมาเป็นหย่อมๆ

จะไปว่าคนใช้รถอย่างเดียวก็ดูโหดร้ายเกินไป

เพราะความไร้วินัย มันอยู่กันในสายเลือดคนทั้งประเทศ

ไม่เลือกบทบาทหน้าที่

ไม่เลือกสถานะทางสังคม

เราก็เลยต้องก้มหน้ารับความล้าหลังแบกใส่บ่า

ให้เพื่อนบ้านก้าวนำหน้าเราไปเรื่อยๆ นั่นแล




ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าข้ามถนนตรงทางม้าลายเสมอ

แม้จะต้องเดินย้อนไปย้อนมา 

เพิ่มระยะทางมากขึ้น

แต่ก็เอาเถอะ

ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ทื่อมะลื่อมาแต่ไหนแต่ไร

และสำหรับข้าพเจ้าแล้ว

หลักการสำหรับเรื่องนี้ก็มีเพียงแค่

ไม่ว่าจะข้ามตรงไหน เราก็มีสิทธิตายได้ทุกเมื่อ

เพราะฉะนั้น 

หากเราจะต้องโดนรถชนตายจริงๆ

เราจะต้องไม่เป็นฝ่ายผิด

อย่างน้อย ให้ได้โดนชน หรือตายคาทางม้าลายนั่นแหละ

ข้าพเจ้าขอตายอย่างผู้ถูกต้องดีกว่ามีเสียงด่าไล่หลังตามมาว่า

"ก็สมควร...แล้ว" 





หลักนี้ ก็เหมือนที่เคยเล่าไป

เรื่องการขับรถ

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ

ขอเพียงแค่ เมื่อเกิดแล้ว เราต้องไม่เป็นฝ่ายผิด

แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้เอาสีข้างถู 

ให้ยืนยันหน้าด้านๆ ว่ากูไม่ผิด

แต่ให้รักษากฎอยู่ตลอดเวลา

ทุกขณะของการขับรถต่างหาก

ใครจะว่าเราโง่ หรือบ้าอย่างไรก็ตาม

ไม่ได้หมายความว่า คนส่วนใหญ่ขับรถอย่างไร

เราต้องขับรถอย่างนั้น

ไม่มีประเทศไหนที่เจริญแล้วขับรถตามกฎสังคม

เห็นเขาทำก็ทำตามเขา

เขารักษากันแค่กฎจราจรเท่านั้น

เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสงสัยว่า

ทำไมบ้านเราเมืองเรา

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต

ทุกเทศกาล ทุกสภาพอากาศ ทุกสถานที่

และเกิดขึ้นได้กับทุกคน




บางที ข้าพเจ้าอาจต้องยืมคำ 

"มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์" 

ที่ว่า

"พระเยซูมอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า แต่คานธีมอบวิธีการแก่ข้าพเจ้า"

มาใช้บ้าง หากแต่ต้องเปลี่ยนเป็น

"กฎหมายมอบหลักการแก่ข้าพเจ้า แต่สืบ นาคะเสถียร มอบวิธีการแก่ข้าพเจ้า"






อ่านเล่มนี้

ข้าพเจ้าต้องถือปากกาไฮไลท์ไว้ในมือ

บ้างก็ขีดไว้เพราะเป็นคำพูดคำเขียนที่โดนใจ

บ้างก็ขีดไว้เพื่อจะได้หาข้อมูลมาต่อยอดองค์ความรู้



กว่าจะอ่านจบ

เขียวๆ ส้มๆ เกือบทั้งเล่ม 

(แล้วจะขีดทำไมฟระ ฮ่าๆๆ)



เรื่องหนึ่งที่ชอบมาก และไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือ

"ปรัชญาจากไม้ตียุง"

ชอบภรรยาของคุณวันชัย ตัน 

และความจริง อาจต้องยกความดีความชอบของปรัชญานี้ให้เธอ

เพราะเธอคือผู้สังเกตเห็นเป็นคนแรก

ว่าสามีของเธอเปลี่ยนไป กล่าวคือ

เริ่มแรกทีเดียว คุณวันชัยต้องปกป้องตัวเองจากยุง

เป็นการต่อสู้แบบตัวต่อตัว

ฝ่ามือของคน กับความว่องไวของยุง

สู้กันพอสูสี

แต่เมื่อคุณวันชัยได้อาวุธ คือ "ไม้ตียุง" มาเสริมพลังอำนาจ

การต่อสู้ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเสมอภาค ไม่ได้มีความสูสีกันอีกต่อไป

แต่เป็นไปในลักษณะของผู้มีอำนาจ กระทำต่อ ผู้ไม่มีทางสู้

ใช่ คุณวันชัย เป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจ

และยุง เป็นตัวแทนของผู้ไม่มีทางสู้

เริ่มแรก คุณวันชัยก็ใช้อำนาจนี้ ปราบปรามเฉพาะยุงที่บินมากัดตัวเอง

หากต่อๆ มา

แทนที่จะใช้แค่เพื่อป้องกันตัว

กลับกลายเป็นการบุกรุกไปยังรัง ไปยังแหล่งที่อยู่ 

ทำลายชีวิต ทำลายครอบครัว

เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุงทั้งหมดภายในบริเวณบ้าน

ตัวแทนนี้

โยงไปถึงผู้มีอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา

และโยงไปถึงผู้ไม่มีทางสู้ เช่นประเทศต่างๆ ที่ถูกอเมริกาบุกรุกทำลาย หรือก้าวก่ายสิทธิการมีชีวิตอยู่

ภายใต้คำถามที่ว่า

การบุก การรุกรานนั้น เป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง

หรือเพื่อแสวงหาบางอย่าง โดยใช้อำนาจที่ตัวเองมี

ดูเอาเถอะ

ใครจะไปคิดปรัชญาลึกซึ้งเช่นนี้จากพฤติกรรมการใช้ไม้ตียุงได้

ข้าพเจ้าชอบความคิดของคุณวันชัย

แต่ชอบความช่างสังเกตของภรรยาเขามากกว่า




ในเล่ม พูดถึงการคัดค้านโครงการของสวนสัตว์เชียงใหม่

ที่จะนำเอาหมีขั้วโลกและเพนกวินจักรพรรดิมาจัดแสดง

เพื่อเรียกเม็ดเงินมหาศาลให้ไหลมาเทมา

เหมือนเช่นที่ครอบครัวแพนด้าเคยทำได้มาแล้ว

แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

มีคำอธิบายหลักการและเหตุผล

ว่าเหตุใด จึงไม่สมควรเบียดเบียนสัตว์ชนิดนี้

เหตุใดจึงควรพับโครงการนี้ แล้วโยนทิ้งไปเสีย

ดีที่สรุปแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจเลือกฟังข้างเหตุและผลอันสมควร

ล้มเลิกโครงการนี้

ข้าพเจ้าแอบยิ้มดีใจแทนเจ้าหมีทั้งหลาย





ข้าพเจ้าอาจเป็นเด็กเก็บกด

รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหมีขั้วโลก

ที่ถูกนำตัวมากักขังไว้ในสวนสัตว์

ข้าพเจ้าชอบการเดินทาง

และเบื่อการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม

บางที ก็เหมือนตัวเองเฉาๆ หม่นๆ ขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ

หรืออาจเพราะข้าพเจ้ากำลังตรอมใจโดยไม่รู้ตัว

(ว่าไปนั่น)




ความจริง

ข้าพเจ้าก็เบื่อการทำงานและการใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์เงินเดือน

เบื่อที่ต้องตื่นตรงเวลาทุกวัน

เข้างานเวลาเดิมทุกวัน

กินข้าวเวลาเดิมทุกวัน

อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ไม่คิดว่าต้องพบเจออีกหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมทุกวัน

ต้องแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้

ห้ามนู่นห้ามนี่

ทั้งที่บางที ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานแต่อย่างใด

นี่ว่ากันแต่เรื่องของวิถีการดำเนินชีวิต

ภายใต้กรอบที่ครอบอยู่เท่านั้น

หาได้หมายถึงเนื้องาน 

หาได้ก้าวล่วงไปถึงพื้นที่การใช้กำลังสมองในส่วนนั้น

ข้าพเจ้าเพียงนึกว่า

จะดีแค่ไหน ที่ได้ทำงานที่ชอบ

แต่ไม่ต้องอยู่ในกรอบ กฎ ระเบียบ ของบริษัท

เอาแค่งานออกมาสำเร็จลุล่วง

เอาแค่เนื้องานไม่มีปัญหา

อยากให้เป็นการจ้างทำของไปเสีย

ไม่ต้องจ้างแรงงานจะได้ไหม

(ว่าไปนั่น อีกที หึๆ)




ข้าพเจ้าอยากเดินทางไปพบประสบการณ์ใหม่ๆ

อยากเป็นผู้ชายที่ไปไหนก็ไม่ต้องกลัวอันตรายรอบด้านเช่นผู้หญิง

บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า

ชีวิตตัวเอง มีข้อจำกัดมากมายเสียเหลือเกิน

และบางครั้งก็สับสนว่า

ไอ้ข้อจำกัดเหล่านั้น

มันมีอยู่จริงๆ หรือเป็นเพียงสิ่งที่ข้าพเจ้าเผลอสมมติมันขึ้นมา

หลายสิ่งที่อยากทำ

แต่ก็ไม่ได้ทำ

หลายสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

แต่ก็บอกตัวเองว่า เราทำไม่ได้

เราคนเดียวทำไม่ไหวหรอก




หนังสือเล่มนี้

ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงหลายความฝันของตัวเองที่ต้องพับเก็บใส่กรุถ่วงน้ำฝังดิน

เพราะรู้สึกว่า ข้าพเจ้าเพียงลำพังจะไปทำอะไรได้



ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองว่า 

อยากเรียนกฎหมาย

แรกๆ ก็อยากเรียนเพราะอยากรวย

อยากเป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ

(ทั้งที่ตอนนั้น ม.3 ยังไม่รู้เลยว่า ไอ้ระหว่างประเทศนี่มันคืออะไรยังไง)

แต่เมื่อสมัยข้าพเจ้าอยู่ ม.6 

เมื่อเริ่มรู้จักกฎหมายมากขึ้น

มีความคิดความอ่านมากขึ้น (นิดหน่อย)

ข้าพเจ้าได้รับการคัดเลือกให้เสนอชื่อเข้ารับรางวัลนักเรียนรางวัลพระราชทาน

มีคณาจารย์ผู้ทางคุณวุฒิมาสัมภาษณ์หลายรอบ

ผ่านการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และทัศนคติต่างๆ

รวมแล้วสัมภาษณ์กัน 3-4 รอบเห็นจะได้

คำถามคลาสสิคมากของกรรมการในแต่ละรอบคือ

จบ ม.6 แล้ว อยากเรียนอะไร เพราะอะไร

ข้าพเจ้าก็ตอบเหมือนกันในทุกรอบว่า

อยากเรียนกฎหมาย อยากเรียนนิติศาสตร์

เพราะทนความไม่ยุติธรรมของผู้ใช้กฎหมายในสังคมไม่ค่อยได้

อยากทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถอุดช่องว่างของกฎหมายเหล่านั้นได้บ้าง

จำได้อีกว่า กรรมการมักไม่ค่อยถามอะไรต่อจากคำตอบนั้น

มีเพียงรอยยิ้มมอบให้บ้าง

คงมอบให้ความใสซื่อและไร้เดียงสาของเด็กคนหนึ่ง

ที่ยังไม่รู้จักโลกเพียงพอ




คำตอบนั้น มาจากความรู้สึกจริงๆ

ข้าพเจ้าไม่ได้โกหกคณะกรรมการแต่อย่างใด

ทว่า

เมื่อเลือกเรียนกฎหมายจริงๆ

ข้าพเจ้ากลับวางแผน สร้างเส้นทางชีวิตให้ตัวเองมายืนในจุดที่ห่างไกลความปรารถนานั้นให้มากที่สุด

ข้าพเจ้าบอกตัวเองว่าอยากทำงานใน Law firm 

ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ ม.3

ตามแรงบันดาลใจแรกที่ผลักให้เดินมาตามเส้นทางนี้

จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตคน

จะไม่สอบอัยการ ไม่เป็นผู้พิพากษา

เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า

กฎหมายในหนังสือ ในตำราที่เรียนๆ กันมา

กับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นหน้าบัลลังก์นั้น

มันต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นไร




จนเมื่อไม่นานมานี้

แม้ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า

ความยุติธรรมอาจยังมีอยู่บ้าง

หากเราเชื่อมั่น

และพยายามทำอย่างเต็มที่

ความดีต้องชนะความชั่วได้

แต่ความเชื่อนั้น ก็ถูกทำลายลงไป

ถูกแทนที่ด้วยการยืนยันว่า

สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้มาจากประสบการณ์ตรงของนักกฎหมายในตำแหน่งต่างๆ

อุดมการณ์กับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกันนะน้องนะ

มันเจ็บปวด 

และข้าพเจ้าก็บอกตัวเองว่า

ถูกแล้วล่ะ ที่ไม่ไปสายนั้น

ดีแล้วที่ไม่ต้องทำงานที่เกี่ยวกับการตัดสินชีวิตคน

ขาข้างหนึ่งจะหยั่งลงนรกเปล่าๆ





แต่มีย่อหน้าหนึ่งที่ข้าพเจ้าไฮไลท์ไว้

เรื่องของคุณสืบ นาคะเสถียร

"เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง

ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อหน้าที่ของเขา

....

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ และความมุ่งมั่นของตัวเอง

บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้"





สารภาพตามตรงว่า

รู้สึกสะอึก เหมือนมีใครบางคนกำลังด่าทอข้าพเจ้า

"แล้วมึงล่ะ ไหนล่ะหลักการมึง ไหนล่ะความมุ่งมั่นของมึง

มึงมันคนทรยศ!!"

แล้วจะไม่ให้หดหู่ได้อย่างไร





คำของเขา ถูกต้องจริงๆ

"คนไทยน่ะมีที่ดี ที่เก่งน่ะ มีมาก แต่ขาดคนกล้า"




บางที ถ้าไม่มีความกล้า

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม






ด้วยรักและขอบคุณ

แพรวา