23 ก.พ. 2557

One by One...Three Hundreds No.50 เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ...The God of Small Things





ชั่วขณะแรกของการสัมผัส "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ"

ของนักเขียนอินเดีย "อรุณธตี รอย"

ข้าพเจ้าเบื่อหน่าย เพราะการพรรณนาท้องฟ้าผืนหญ้าแผ่นน้ำ

เป็นสำนวนเหมือนนักเขียนไทยรุ่นเก่าๆ

ซึ่งถ้าใครไม่โรแมนติกจริง ไม่เทพจริง

ก็รังแต่จะทำให้งานเขียนชิ้นนั้นน่าเบื่อ

และไม่อาจรั้งความสนใจของคนอ่านได้

ซ้ำท่วงทำนองภาษายังแปลกๆ 

แปลกทั้งชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ ชื่ออาหาร

ก็นั่นเอง ในร้านหนังสือไทย มีวรรณกรรมจากอินเดียเดินทางมาถึงสักกี่เล่มเชียว



อินเดียในจินตนาการของข้าพเจ้า

มีภาพผู้คนโหนรถไฟแบบที่น่าอัศจรรย์ยิ่งว่ารถไฟมันวิ่งไปถึงจุดหมายโดยไม่พลิกคว่ำซ้ายขวาได้ยังไง

มีภาพผู้คนรูปร่างท้วมทั้งชายหญิงที่มาเดินมาบุญครอง

มีเสียงเพลงอีนี่จ๊ะ อีนายจ๋า

และมีถ้อยคำที่ว่า เจองูกับเจอแขก...




ข้าพเจ้าไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมของชาวอินเดีย

แต่รู้ข้อมูลผิวเผินอยู่บ้าง

ผู้คนมีทั้งร่ำรวยล้นฟ้าและยากจนในระดับที่คาดเห็นสภาพจริงได้ยากยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ตอกย้ำภาพเหล่านั้นให้แน่นขึ้น

การแบ่งชนชั้นวรรณะ

การมีกลุ่มคนเดินขบวนประท้วง

ประสงค์จะปฏิรูปอะไรสักอย่าง

คนรวยถูกเกลียดชัง

คนจนถูกกดขี่

กลิ่นอายความสกปรก ความคับแค้นของบรรยากาศ

อรุณธตีรอยฉายภาพมันออกมาโดยอาศัยการเรียงร้อยของถ้อยคำได้อย่างละเอียดยิบ




แต่ช่วงระยะหลังของการอ่าน

ข้าพเจ้ากลับไม่รู้สึกถือสาการพรรณนาเวิ่นเว้อนั้น

(หลังๆ มาก็ไม่ใช่จะมีเยอะแล้วไง หึๆ)

บางจุดนั้น ข้าพเจ้าอ่านอย่างละเลียด 

ค่อยๆ ปล่อยจินตนาการให้ก่อตัวขึ้นช้าๆ

ภาพมันน่าสยดสยองบ้าง น่าคลื่นเหียนอาเจียนบ้าง

ก็ต้องยอมรับสภาพกันไป

หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็เพิ่มความเร็วในการอ่านขึ้นไปหน่อย

สงสารภาพในหัว สงสารตัวเอง หึๆ



ข้าพเจ้าประทับใจ "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ"

ในเรื่องการสร้างตัวละคร

อรุณธตี รอย เป็นเลิศในข้อนี้จริงๆ

ตัวละครแต่ละตัวมีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด

มีสิ่งที่สามารถอธิบายการกระทำได้อย่างชัดเจน

รายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด

ผู้เขียนไม่เคยมองข้าม

และนั่นทำให้ชีวิตชีวาของตัวละครแต่ละตัวโลดแล่นในหน้าหนังสืออย่างไม่มีที่ติ

อรุณธตี รอย ทำให้ข้าพเจ้าอึดอัด

เพราะจะโกรธเกลียดตัวละครสักตัว ก็ไม่อาจทำได้เลย

ทั้งน่าชิงชัง ทั้งน่าสงสาร

ดั่งว่าพวกเขาถูกกำหนดมาให้ต้องรับชะตากรรมอันทารุณเหล่านั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

และพวกเขาไม่มีความผิด

เปล่า...ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันไม่ผิด

แต่เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา จนแทบจะพูดได้ว่า

มันไม่ผิดถ้าพวกเขา หรือใครๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

จะทำเช่นนั้น

และสิ่งที่น่าอึดอัดยิ่งกว่าความผิดซึ่งๆ หน้าที่ประจักษ์แจ้งในเรื่องราวก็คือ

การไม่อาจโทษได้ว่า ต้นเหตุของความเลวร้ายทั้งหมด

เกิดมาจากใคร เกิดมาจากที่ไหน และเกิดมาเมื่อใด

ราวกับรากเหง้าแห่งความชั่วร้าย เกิดจากบางสิ่ง

บางสิ่งเล็กๆ

เล็กจนไม่อาจรู้ได้ว่าคืออะไร

แต่มีอิทธิพลมากมาย

และมีพละกำลังมหาศาล ผลักดันทุกชีวิตให้วิ่งวนไปในห้วงแห่งความทุกข์สาหัส



ข้าพเจ้าชอบฉากหนึ่ง

ฉากที่สะดุดใจและสะเทือนอารมณ์ยิ่ง

เมื่อจักโก พี่ชายของอัมมู ไม่พอใจในคำพูดของน้องสาวปากร้าย (ซึ่งใจก็ร้ายด้วย)

จึงสวนกลับทันควัน

"อัมมู...เป็นไปได้มั้ย ที่เธอซึ่งตัวเองไม่มีอะไรเหลือแล้ว จะหุบปากช่างแดกดัน อย่าให้มันเที่ยวเปรอะไปถึงคนอื่น"

อัมมู คือหญิงสาวที่ผ่านอดีตความขมขื่นมามากมาย

ชีวิตแต่งงานล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

มีลูกแฝดสองคนให้หิ้วกลับมาตายรังที่บ้าน

ให้ผู้คนดูถูกหยามเหยียดเพราะความเป็นม่าย

มาอย่างคนสิ้นไร้หนทาง ทั้งที่ตอนไปนั้นแสนหยิ่งทะนง

จักโกเอาหลุมดำภายในจิตใจของน้องสาว

มาทำร้าย มาเชือดเฉือนหล่อนอย่างนิ่มๆ


อรุณธตี รอย จึงเขียนไว้ในบรรทัดต่อมาว่า

"นี่คือความยุ่งยากในครอบครัว เช่นเดียวกับหมอที่ช่างวินิจฉัย

พวกเขาต่างรู้ว่าตรงไหนคือจุดเจ็บปวดที่สุดของกันและกัน"




ทั้งนี้ หาใช่แต่เพียงความโหดร้ายหรืออารมณ์หมองหม่นเท่านั้นที่อรุณธตี รอยถ่ายทอดออกมา

ความสดใสไร้เดียงสายังพอให้เห็น

ให้คนอ่านชุ่มชื่นหัวใจอยู่บ้าง

คือ พี่น้องฝาแฝด

ที่แสดงได้อย่างสมบทบาท

เรียกทั้งรอยยิ้ม ความสงสาร ความเอ็นดู และความโกรธเคือง

สมกับเป็นเด็ก

ที่มีชีวิต มีหัวใจ มีความรู้สึก มีความเพ้อฝัน

และเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

จินตนาการที่ช่วงแรกของชีวิตไม่มีอะไรเจือปน

และทำให้คนอ่านอิ่มเอมไปกับเรื่องราวบ้าๆ บอๆ ที่สองพี่น้องร่วมกันสร้าง

แต่แน่นอน

ไม่มีเด็กคนไหนมีจินตนาการเติบโตขึ้นมาด้วยตลอดชีวิต

เพราะกรอบ กฎเกณฑ์ คำสั่ง และชีวิตจริง

ซึ่งผู้ใหญ่ และสังคมยัดเยียดให้

จะเบียดตัว และทำให้พื้นที่ของจินตนาการสดใส ค่อยๆ ยุบ

ค่อยๆ แฟบ ไปตามกาลเวลา

ช้าบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่คน



ข้าพเจ้าชอบยามเมื่ออัมมู เล่าเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ ให้สองพี่น้องฟัง

แล้วเอสธา ฝาแฝดผู้พี่ - เพศชาย

เอาเรื่องเหล่านั้นมาเป็นการละเล่นที่สนุกสนาน

"ตอนค่ำๆ เอสธาจะใช้ผ้าห่มพันตัว ยืนบนเตียง พูดว่า 'เจ้าเองรึ บรูท' - แล้วซีซาร์ก็ขาดใจ เขาทำเป็นล้มทั้งยืน (ไม่งอเข่า) ลงบนเตียงเหมือนศพที่ถูกแทง..."

สองพี่น้องไม่ได้สนใจหรอกว่า

จุดประสงค์ที่อัมมูผู้เป็นแม่เล่าเรื่องจูเลียส ซีซาร์ ให้พวกเขาฟัง

ก็เพื่อจะบอกเขาว่า

"ลูกไว้ใจใครไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าแม่ พ่อ พี่น้อง สามี ภรรยา หรือเพื่อนสนิท - เราไว้ในใครไม่ได้เลย"

ข้าพเจ้าคิดว่าอัมมูพูดไม่ครบ

หล่อนควรจะบอกลูกๆ ด้วยว่า

"เราไว้ใจใครไม่ได้เลย แม้กระทั่งตัวเราเอง"



เรื่องราวจบลงด้วยความตายของหลายชีวิต

และแน่นอน ทุกชีวิตที่ตาย

มักจะเป็นผู้ไม่สมควรตาย

กระนั้น

อรุณธตี รอย ย้ำนักย้ำหนาว่า

ใครๆ ก็ตายได้

ด้วยกลุ่มคำคือ

"ไม่แก่ ไม่หนุ่ม ไม่สาว

แต่อยู่ในวัยที่ตายได้"



อนึ่ง อีกประเด็นที่อรุณธตี รอย สื่อออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่งคือ

ในบางเวลา กามรส ก็เข้ามาก้าวก่ายและมีอิทธิพลมากกว่าสิ่งใดๆ

มากเสียจนคนที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่อาจรู้ได้เลยว่า 

เหตุใด พิธีกรรมเช่นนั้นจึงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบางคู่ชีวิต

ใครเป็นคนตั้งกฎไม่ให้คนต่างวรรณะมาสมสู่กัน

ทำไมความสัมพันธ์ของอัมมู ผู้อยู่ในชนชั้นกระฎุมพี

กับเด็กหนุ่มเวลุธา ผู้เป็นจัณฑาลปาราวัน

จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอันแสนหดหู่และทารุณได้ถึงเพียงนั้น


(ข้าพเจ้าชื่นชมอรุณธตี รอยจากใจจริง

ที่บรรยายภาพขณะแรกเมื่ออัมมู มองไปยังฝั่งตรงข้าม

และเห็นเด็กหนุ่มกำลังเล่นกับลูกสาวของตน

เด็กหนุ่มถอดเสื้อ

เผยให้เห็นผิวมันดำขลับ

และกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ฟิตแอนด์เฟิร์ม

ซึ่งอรุณธตี รอย เปรียบเปรยไว้ว่า

เหมือนช็อกโกแลตที่แบ่งเป็นร่องๆ

เรือนกายของชายหนุ่ม มีความนูนความเว้ากร้าวแกร่ง

ร่างกายของนักว่ายน้ำ ร่างกายของช่างไม้นักว่ายน้ำ

ร่างกายที่ขัดสีด้วยขี้ผึ้งชั้นดีแห่งชีวิต จนเกิดประกาย

ป๊าด ข้าพเจ้าที่เป็นคนอ่าน ไม่ได้เห็นเองกับตา

ยังเผลอซี๊ดเลย ให้ตายเถอะ 

นับประสาอะไรกับอัมมู ที่เห็นเต็มๆ ตา หึๆ)




สุดท้าย

มีกฎเกณฑ์อะไรห้ามไว้หรือไม่ว่า

ฝาแฝดชายหญิง

ห้ามเป็นของกันและกัน

เมื่อพวกเขาต่างก็เป็นกันและกันมาเนิ่นนาน



เรื่องนี้...ชื่อเรื่องหลอกลวงประชาชนอย่างยิ่ง

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ

ฟังดูกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก

แต่อย่าได้พยายามถามหาสิ่งนั้นจากเนื้อในระหว่างปกหน้ากับปกหลังเลย

เพราะอรุณธตี รอย ไม่ได้ตั้งใจใส่สิ่งนั้นไว้ในความโกลาหลจำนวน ๓๗๖ หน้านี้แต่อย่างใด



ด้วยรัก

แพรวา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น