ตั้งแต่โตมา พอรู้เรื่อง รู้ประสา รู้จริตและนิสัยของตัวเอง
ก็เหมือนจะเข้าใจมาตลอดว่า
ตัวเองเป็นคนบ่อน้ำตาลึก
อาจเพราะด้วยความพยายามที่จะเป็นเช่นนั้น
ด้วยเพราะเสียงของแม่ก้องอยู่ตลอดเวลาว่า
"ลูกแม่ต้องเข้มแข็ง"
และมันก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้น
ทุกครั้งที่มีเรื่องสะเทือนใจ
ข้าพเจ้าจะเก็บ จะกลั้น
อย่างไรเสีย ก็จะไม่ให้น้ำตามันได้ไหลออกมา
หรือถ้ามันอยากจะไหลนัก
ถ้ามันอึดอัดจนมิอาจแบกรับได้อีกต่อไป
ก็จะได้ปล่อยมันให้ออกมาซัดกระหน่ำเอาความเจ็บช้ำทั้งหมดทั้งมวลทิ้งๆ ไปเสีย
ให้หัวใจได้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง
ดั่งฟ้าหลังฝน
แต่วันนี้
ชักเริ่มไม่แน่ใจ
ว่าความเข้าใจในตัวเองเช่นนั้น..ถูกต้องแล้วหรือไม่
พักหลังๆ มานี้
แลดูจะมีเรื่องอะไรๆ มาสะกิดให้น้ำตามันรื้นได้อยู่บ่อยๆ
หรือไหลได้เป็นบางครั้ง
วันนี้ก็เช่นกัน
ด้วยเพราะหนังสือ..ไม่สิ
ด้วยเพราะเรื่องสั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้น
เรื่องแรก
เรื่องต่อมา
และเรื่องต่อๆ มา
เมื่ออ่านเรื่องแรกจบลง
ข้าพเจ้ามิอาจอ่านเรื่องต่อไปได้ในทันที
เพราะต้องหันมาสงบจิตสงบใจ
ด้วยเพราะอยู่บนรถโดยสาร
และผู้คนยังมากมาย
ความรู้สึกอาย..มันมีมากเกินไป
...อายน้ำตา
ต้องหันหน้าเข้ากระจกมัวๆ ที่มีน้ำฝนสาดใส่
เป็นนางเอก MV ไปสักเล็กน้อย
หนังสือรวมเรื่องสั้น
ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา
วิชา ท ๑๐๑ - ท ๓๐๖
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓
(ไม่แน่ใจว่านี่เป็นรายชื่อเก่าหรือรายชื่อใหม่
เพราะได้ข่าวว่า กระทรวงเปลี่ยนแปลงรายชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาแล้ว)
เปิดมาเรื่องแรก
"เรือรบจำลอง"
อ่านไปถึงตอนกลางเรื่อง
ข้าพเจ้าขนลุก
ขนลุกเพราะความคิดและจินตนาการของตัวเอง
ผู้เขียนใช้กลวิธีการเปรียบเทียบ
เป็นเนื้อเรื่องคู่ขนาน
ที่เรื่องหนึ่ง
ไปมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
สำหรับตัวละครหนึ่ง
ตอนนั้น
ผู้เขียนยังไม่เฉลย
ว่าต้องการจะสื่ออะไรให้เด็กๆ เข้าใจ
แต่สำหรับคนที่โตแล้ว อยู่ในภาวะผู้ใหญ่บ้างแล้ว
ย่อมเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์นั้น
มันจะนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างไรบ้าง
ข้าพเจ้าขนลุก
เพราะมันเป็นการเปรียบเทียบและเชื่อมโยง
เป็นจุดเปลี่ยน
ที่นิ่มนวล ทว่า สะเทือนใจ
ข้าพเจ้ารู้ว่า
ผู้เขียนจะต้องสร้างให้เด็กที่เป็นตัวเอก
มองเห็นข้อความในเหตุการณ์คู่ขนานนั้น
แล้วนำมาคิด มาปรับให้เข้ากับตัวเอง
นั่นเอง
ข้าพเจ้าจึงอดสงสัยมิได้ว่า
ตัวละครนั้น
โตพอที่จะคิดอะไรลึกซึ้งเช่นนั้นได้แล้วจริงๆ หรือ
มันมหัศจรรย์นะ
และให้ลามความสงสัย ไปถึงว่า
เด็กในวัยมัธยมต้น
จะสามารถรู้หรือเข้าใจได้ด้วยตัวเอง
สำหรับประเด็นนี้หรือไม่
รู้ด้วยตัวเอง
รู้ตั้งแต่ตอนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
โดยที่ยังไม่ได้รู้ถึงเฉลยในภายหลังของผู้เขียน
แต่แท้แล้ว
ในใจลึกๆ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า
ถ้าเด็กตั้งใจอ่าน
โดยอ่านอย่างมีอารมณ์ร่วม
อ่านอย่างละเอียด ละเลียด และใช้ความคิด โลมไล้ไปตามตัวหนังสือเหล่านั้น
ความเข้าใจเช่นนั้น ก็ไม่ยากเลย
ข้าพเจ้าชอบเรื่องนี้ที่สุด
เป็นการสร้างเหตุการณ์คู่ขนานที่สวยงามและอ่อนโยนมาก
แต่ตอนจบนั้น
แลดูจะสะเทือนใจเกินไป
ให้สงสัย (อีก) ว่า
ทำไมวรรณกรรมเยาวชน..หนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กๆ..มันเศร้าจัง (ฟระ)
ความเศร้าจากเรื่องแรกไม่ทันหาย
ข้าพเจ้าก็ใจร้อน
อยากอ่านเรื่องต่อไป
ทิ้งระยะให้หัวใจได้พัก สักครู่
ให้อารมณ์ได้เข้าสู่ภาวะเปิดรับเรื่องใหม่ได้
ข้าพเจ้าก็อ่านเรื่องที่สอง
นั่นไง..
เปิดเรื่องมาก็ตั้งท่าจะเศร้าเสียแล้ว
แต่ข้าพเจ้าก็อ่านไปแล้วพยายามบอกตัวเองว่า
มันไม่จบเศร้าๆ หรอก
(ลางสังหรณ์มันบอก)
แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้
การใช้ตัวละครเอกเป็นเด็ก
การแสดงถึงความผูกพันอย่างบริสุทธิ์ของหัวใจในวัยนั้น
กับใคร หรืออะไรบางอย่าง
โดยเฉพาะสัตว์ที่น่ารัก ผู้เป็นทาสที่จงรักภักดี
และให้สะเทือนอารมณ์ด้วยการพลัดพราก
ด้วยความตาย
มันไม่ง่ายเลย
มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะไม่เสียน้ำตา
หรือแม้เรื่องราวจะมิได้จบลงด้วยความเศร้า
ก็ต้องสะอึก เพราะจุกกับความอิ่มเอมใจอยู่ดี
ในช่วงชีวิตนั้น
จะมีอะไรสำคัญกับเราไปมากกว่า
พ่อแม่ เพื่อน และสัตว์เลี้ยง
และความสัมพันธ์เหล่านี้
มันช่างบอบบาง
และง่ายต่อการสั่นสะเทือนเสียเหลือเกิน
ข้าพเจ้าไม่อาจคัดค้านโปรยปกได้เลยแม้แต่น้อย
"รวมเรื่องสั้นสะเทือนอารมณ์ไม่รู้ลืม"
วันนี้ ข้าพเจ้าเกิดอยากตอบคำถามที่ว่า
"ถ้าย้อนเวลากลับไปอดีตได้ จะทำอะไร"
...
ข้าพเจ้าอยากได้อ่านหนังสือเล่มนี้
ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
อยากคลายความสงสัยให้ตัวเอง
อยากรู้ว่า..ถ้าได้อ่าน ณ ขณะนั้นจริงๆ
ข้าพเจ้าจะเสียน้ำตาให้อันดร ลูกห่าน และนท
เช่นที่ได้อ่านตอนวัย 23 นี้หรือไม่
ด้วยรัก แม้ไม่สนิท
แพรวา บุตรี
ป.ล. ครั้งนี้ เล่มนี้ จะไม่ขอพูดถึงสำนวนการเขียน
เพราะถือว่าเป็นคนละยุคกันแล้ว เป็นวิธีการใช้ภาษา และการเลือกใช้คำ
ที่แตกต่างจากยุคนี้ไปมากแล้ว
การอ่าน จึงดำเนินไปด้วยการเปิดหัวใจ ให้รับรู้ถึงการสั่นสะเทือนทางอารมณ์
มากกว่าการรับรู้ทางภาษาหรือสนใจในตัวอักษรทั้งปวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น